ตำบลรามแก้ว เรียกชื่อตามหมู่บ้าน "รามแก้ว" ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในจำนวน 5 หมู่บ้าน ที่ได้แยกตัวมาจากตำบลเขาพังไกร
เมื่อปี พ.ศ. 2523 ไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานแน่ชัดว่า ชุมชนได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด แต่หากเทียบเคียงหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารกระทรวงกลาโหมพอจะบ่งชี้ได้ว่ามีการตั้งชุมชนอยู่อย่างหนาแน่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2406-2517 โดยมีศูนย์กลางความเจริญ ของชุมชนอยู่บริเวณตลาดคลองแดน ซึ่งตั้งคาบเกี่ยวระหว่างตำบลรามแก้ว อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช กับ ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จากปากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนที่ล่วงลับ การอพยพเข้ามาบุกเบิกก่อตั้งชุมชนน่าจะเกิดขึ้น
ก่อนปี พ.ศ. 2400 โดยการล่องเรือมาตามลำน้ำ เมื่อพบแผ่นดินใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ จึงลงหลักปักฐาน ลงแรงหักร้างถางพงจับจองเป็นเจ้าของ เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่มที่มีดินดีและน้ำท่าสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนา นักบุกเบิกรุ่นแรก ๆ ที่เข้ามายังมีโอกาสพบเห็นสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งช้าง โดยเล่าต่อ ๆ กันมาว่า คลองแดน เดิมทีเคยเป็นเส้นทางเดินของช้างมาก่อน ต่อมาเมื่อทำนาประสบผลสำเร็จ ก็เกิดการ
ชักจูงจากญาติพี่น้องและเพื่อนพ้องติดตามกันมาเป็นละลอกเกิดเป็นชุมชนริมคลองขึ้นโดยรอบลำคลองทุกสายชุมชนจึงขยายตัวเติบโตขึ้นตามลำดับกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของลุ่มน้ำปากพนัง ยุคแห่งความรุ่งเรือง และมั่งคั่งของชุมชนแถบน้ำ น่าจะสอดรับกับช่วงที่กิจการค้าข้าว ลุ่มน้ำปากพนังเติบโตรุ่งเรืองสูงสุด
ประมาณปี พ.ศ. 2493-2481 โดยช่วงเวลาดังกล่าว ตลาดคลองแดนได้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำ การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าที่สำคัญระหว่างลุ่มน้ำปากพนัง และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณจุดบรรจบของลำน้ำ 3 สาย ได้แก่ คลองระโนด คลองชะอวด (คลองแดน)
และคลองปากพนัง โดยพ่อค้าชาวจีนเข้ามาประกอบกิจการค้าขายหลายหลายกิจการตั้งแต่ร้านทองไปจนถึงร้านขายกาแฟคลื่นความเปลี่ยนแปลงระลอกแรกที่ก่อผลสะเทือนต่อชุมชนเมื่อการคมนาคมทางบก ทางหลวงสาย 408 นครศรีธรรมราช-สงขลา เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2517 ทำให้เส้นทางการพัฒนาเปลี่ยนทิศทางบทบาทที่เคยทรงอิทธิพลของการคมนาคมทางน้ำเริ่มหมดมนต์เสน่ห์ และโรยราลงในท้ายที่สุด
ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2536 - 2537 ได้มีการบุกเบิกทำนากุ้งในพื้นที่ตำบลรามแก้ว หมู่ที่ 2 บ้านรามแก้ว และหมู่ที่ 3 บ้านโพรงจระเข้ รวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งยังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การแบ่งโซนน้ำจืด-น้ำเค็ม ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อการทำนา การทำนากุ้งเฟื่องฟูและซบเซาภายในระยะเวลาไม่กี่ปี หากได้ฝากบทเรียนที่เจ็บปวดแก่ผู้คน จำนวนไม่น้อย
ยังไม่นับต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่ทรุดโทรม ที่สังคมต้องจ่ายโดยไม่อาจปฏิเสธ ชะตากรรมของคนตำบลรามแก้วถูกทดสอบ และท้าทายมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเนื่องจากตั้งอยู่พื้นที่ชายขอบกล่าวคือ อยู่ชายขอบของโครงการพัฒนาทั้งสองลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปากพนัง และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทำให้ตำบลรามแก้ว ตกอยู่ท่ามกลางสุญญากาศการพัฒนาอยู่เนืองๆ ไม่ผิดนักหากจะพูดว่า "ตกขอบ" จนชาชินกล่าวได้ว่าภายหลังสิ้นสุดยุครุ่งเรืองการคมนาคมทางน้ำและการล่มสลายของตลาดคลองแดน ชุมชนย่านน้ำได้พานพบกับชะตากรรมความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและเชี่ยวกรากมากขึ้น ดังนั้น จากปัจจัยหลายประการนี้ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนสะท้อนและปรากฏให้เห็นประจักษ์แก่สายตา แลไปข้างหน้าคือการกอบกู้และกำหนดอนาคตตำบลรามแก้วร่วมกัน
ความเป็นมาองค์การบริหารส่วนตำบลรามแก้ว เป็นหน่วยบริหาราชการส่วนท้องถิ่น จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ตามความนัยมาตรา 40 และมาตรา 95 ได้ยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไป เล่ม 113 ตอนพิเศษ 32 ง ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 โดยเรียกย่อๆว่า อบต. รามแก้วหมายถึงชื่อหมู่บ้านเป็นหลักสำคัญเนื่องจากบ้านรามแก้ว หมู่ที่ 2 เป็นที่ที่ประชากรอาศัยอยู่มาก ดังนั้นได้ตั้งเป็นตำบลรามแก้ว โดยยึดเอาหมู่บ้านของประชาชนที่อาศัยอยู่มาก เป็นชื่อขององค์การบริหารส่วนตำบลองค์การบริหารส่วนตำบลรามแก้วเกิดขึ้น